วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนังเรื่อง Her : ความสัมพันธ์ระหว่าง คน กับ "ระบบ" และข้อคิดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (ไทยไพรเวซี่ by คณาธิป)


  เรื่องราวของ  “Her”   อยู่ในฉากของโลกอนาคต เมื่อพระเอกผู้เป็นนักเขียนชื่อ  “Theodore Twombly”  ซึ่งกำลังเหงาๆเศร้าๆ เพราะเพิ่งแยกทางกับภรรยา “Catherine”

พระเอกของเราก็ ได้ซื้อระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่งออกใหม่ที่มีชื่อว่า “OS-1″ มาใช้
   เมื่อเขาติดตั้งระบบนี้  มันจะเข้ามาจัดการระบบต่างๆให้กับพระเอก เช่น เข้าถึงอีเมล์ แจ้งเตือน เขาสามารถพูดสั่งให้เช็คข้อความ ลบข้อความ ได้   โดยการตอบโต้กับระบบนี้จะเป็นเสียง (ซึ่งตอนติดตั้งเขาเลือกเป็นเสียง "ผู้หญิง")   ทำให้เขาเหมือนมีเลขาฯส่วนตัว ในการจัดการสิ่งต่างๆ
และเจ้าเลขาส่วนตัวนี้ ก็มีชื่อซะด้วย  คือ  “Samantha” ( ให้เสียงโดย Scarlett Johansson)

หนังถ่ายทอดปฎิสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับระบบปฎิบัติการเสียงสาวสวย
ซึ่งเริ่มก่อตัวจากความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ใช้งาน กับ ระบบ
 จนเริ่มมีความรู้สึกส่วนตัวอันลึกซึ้ง  ถึงขั้นเรียกว่าความรัก

ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว มีข้อน่าคิด โดยเฉพาะ
  การที่พระเอก ซื้อ ระบบปฎิบัติการนี้มา และ ระบบนี้ใช้เพื่อให้บริการทางเทคโนโลยีต่างๆแก่เขา  ทำให้เขาอาจรู้สึกว่า Samantha  เป็นของเขาอย่างส่วนตัวไปด้วย

มาวันหนึ่ง เมื่อ Samantha เริ่มมีอาการแปลกๆ  จะว่าไปก็คล้ายคนมีชีวิตเหมือนกัน นั่นคือ
   ค่อยๆห่างเหินจนพระเอกสังเกตและรู้สึกได้
    แม้ว่า Samantha จะบอกว่า ไม่มีอะไร
 จนในที่สุด
พระเอกก็ตาม Samantha ตรงๆว่า
  ขณะคุยกับผมคุณคุยกับคนอื่นอีกหรือไม่
  คำตอบคือ ใช่
   ปรากฎว่า Samantha เป็นระบบที่มีความสามารถสูงมาก สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกับระบบอื่นๆ คนอื่นๆ หรืออะไรก็ตามที่มันพัฒนาจนสื่อสารกันได้
  โดยสื่อสารพร้อมๆกันจำนวนมากมายหลายพัน
     ถ้าเปรียบเทียบกับคนมีกิ๊ก  Samantha คงชนะเลิศมนุษย์หลายๆคนแน่ๆ

  

ท้ายที่สุด Samantha  ก็ติดลมในการสื่อสารกับระบบอื่นหรือสิ่งอื่นๆ  จนปิดตัวเองทิ้งพระเอกไป
 ไม่ใช่เฉพาะ Samantha   ระบบของคนอื่นๆก็มีอาการลักษณะนี้เช่นกัน
    หนังไม่ได้บอกว่าระบบพวกนั้นสื่อสารอะไรกัน
        แต่ เรื่องที่มันสื่อสารนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะคาดคิดได้
            ถ้าเดาเป็นหนังไซไฟ  พวกมันอาจพัฒนาตัวเองขึ้นและกำลังคิดยึดโลก
                       ควบคุมระบบทั้งหมด    จนควบคุมมนุษย์ไปเลย 
    หรือ พวกมันอาจคิดก้าวข้ามกิเลสของมนุษย์ไป   หรืออะไรก็ตามแต่  หนังทิ้งไว้ให้เป็นปริศนา


แต่ที่แน่ๆ พระเอกผู้น่าสงสาร ถูกแฟนที่เป็นคนทิ้ง  แล้วก็ยังมาถูกแฟนที่เป็นคอม ทิ้งอีก

ช่างเศร้า เหงา เจ็บช้ำ ซ้ำซาก เสียนี่กระไร


แต่ที่ไทยไพรเวซี่รู้สึกช้ำลึกๆยิ่งกว่าก็คือ
 หนังให้ข้อคิดด้านสิทธิส่วนบุคคลในสังคมออนไลน์โดยสรุปได้ดังนี้

    -  หนังสะท้อนถึง การที่คนเรา พึ่งพา พึ่งพิง กับ ระบบอัจฉริยะที่อำนวยความสะดวกมากมาย บนพื้นฐานของข้อมูลส่วนบุคคลมากมายของเรา ที่เราให้มันไป ให้มันใช้ เพื่อแลกกับความสะดวกดังกล่าว

-    คนเราหลายคน เชื่อใจ ว่า ระบบดังกล่าว จะเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เราให้ใช้  เข้าใจว่า ระบบนั้นมันจะดูแลเราอย่างเป็นส่วนตัว

-  ข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่อยู่กับคนมีเลือดเนื้อ  ก็เสี่ยงต่อการหลุดรั่ว  แม้คนนั้นเราจะไว้ใจ 
            เช่นเดียวกัน  การที่เราไม่ไว้ใจคน แต่ไปไว้ใจระบบ หรือเทคโนโลยีอันทันสมัย
                 ผลสุดท้ายอาจจบลงแบบช้ำๆ เช่นเดียวกับพระเอกในเรื่องนี้

 คิดดูว่า Samantha ที่มีข้อมูลต่างๆทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวของพระเอก ในปริมาณมาก
          แทบจะชีวิตทุกด้านของพระเอกเลยก็ว่าได้
            เมื่อ Samantha จากไป   ข้อมูลต่างๆของพระเอกที่อยู่ในการครอบครองของเธอล่ะ
               เธอจะแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวกับระบบหรือสิ่งอื่นๆที่เธอพูดคุยอยู่หรือไม่
                       แม้เธอจะไม่เอาไปแชร์กับระบบอื่นๆที่เธอคุยอยู่ (ตามท้องเรื่องมีนับพัน)
                              แต่เธอมีมาตรการจัดการรักษาความปลอดภัยในข้อมูลของพระเอกหรือไม่


อกหักสองหน  อาจยังพอทน
    แต่ข้อมูลส่วนบุคคลกระจายไปทั่วยังจะทนไหวไหม

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น